นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตระหนักถึงความจำเป็นในการยกระดับศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทยให้มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล จึงจัดกิจกรรมการพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์สู่มาตรฐาน ISO 9001 เพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และได้รับการยอมรับจากผู้ใช้บริการอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในระดับสากล

โดยกรมฯ จะคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพไม่น้อยกว่า 70 ราย ที่ผ่านการประเมินวิเคราะห์ศักยภาพธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ พร้อมทั้งรับคำปรึกษาแนะนำการแก้ไขปัญหา อุปสรรคในการปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ ให้คำปรึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับ ISO 9001 : 2015 พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพธุรกิจด้วยตัวชี้วัด 3 มิติ คือ มิติด้านต้นทุน ด้านเวลา และความน่าเชื่อถือ รวมถึงเข้าเยี่ยมชมธุรกิจต้นแบบที่มีระบบบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพจนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ธุรกิจที่ได้รับการพัฒนา และปรับปรุงระบบการบริหารจัดการจนผ่านหลักเกณฑ์ จะได้รับการตรวจประเมินภายในอีกครั้ง ก่อนขอการรับรองระบบมาตรฐานจากสถาบันผู้ให้การรับรองมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 (Certification Body : CB)

การเพิ่มประสิทธิภาพระบบให้บริการโลจิสติกส์ในยุค 4.0 จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการจัดการโลจิสติกส์มาประยุกต์และผสมผสานกับเทคโนโลยีในระบบการทำงานของธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการแก่ลูกค้า เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เนื่องจากการให้บริการโลจิสติกส์ต้องการความรวดเร็ว ความถูกต้องแม่นยำในการขนส่ง มีการแลกเปลี่ยนและส่งต่อข้อมูลกันตลอดเวลา เพื่อให้การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในช่วงที่ผ่านมาของประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเกื้อหนุนการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ส่งผลให้ความต้องการด้านใช้บริการโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ บริษัทผู้ให้บริการขนส่งและกระจายสินค้าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการให้มีความสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ และให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการร่วมงานกับพันธมิตรในท้องถิ่นที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ

“ประเทศไทยมีศักยภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบโดยอยู่ตรงศูนย์กลางของภูมิภาค รวมถึงมีทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ระดับคุณภาพเป็นจำนวนมาก หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันอย่างจริงจังจะสามารถนำพาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคได้อย่างแน่นอน”นายวุฒิไกร กล่าว

ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการที่ผ่านการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว จำนวน 674 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001 : 2015) จำนวน 530 ราย และธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพโลจิสติกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 144 ราย โดยแยกตามประเภทธุรกิจ ดังนี้ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า จำนวน 472 ราย (ร้อยละ 70) ธุรกิจตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้าตัวแทนออกของ จำนวน 124 ราย (ร้อยละ 19) ธุรกิจคลังสินค้า จำนวน 34 ราย (ร้อยละ 5) ธุรกิจการบริหารจัดการเกี่ยวกับสินค้า จำนวน 16 ราย (ร้อยละ 2) และธุรกิจอื่นๆ จำนวน 28 ราย (ร้อยละ 4)