กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 หรือที่เราเรียกกันว่า “อีสานเหนือ” ประกอบด้วย จ.อุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ เป็นพื้นที่ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ สปป. ลาว ที่มีสะพานมิตรภาพไทย – ลาว เป็นประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ต่อเนื่องไปยังประเทศจีน
ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนให้เชื่อมโยงกัน ล่าสุดโครงการต่าง ๆ พัฒนาเป็นลำดับ ดังนี้
1. โครงข่ายทางถนน จะปรับปรุงประสิทธิภาพในปีงบประมาณ 2562 – 2566 ดังนี้
• ขยายช่องจราจร ตอนหล่มสัก – หล่มเก่า – ภูเรือ – เลย เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 128 กิโลเมตร
• ขยายช่องจราจร ตอนผานกเค้า – วังสะพุง เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 25 กิโลเมตร
• ขยายช่องจราจร ตอนสังคม – โสกกล้า ให้ได้มาตรฐานทางชั้น 1 ระยะทาง 8.5 กิโลเมตร รองรับปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยได้ 3,483 คันต่อวัน
• ขยายช่องจราจร ตอนปากภู – โคกใหญ่ – ปากห้วย เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทางรวม 19.64 กิโลเมตร พร้อมติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย รองรับปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยได้ 3,549 คันต่อวัน
• ขยายช่องจราจร ตอนอ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย – ห้วยเชียงดา – ปากชม – อ.เชียงคาน (เลียบโขง) จ.เลย เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 104.6 กิโลเมตร
• ขยายช่องจราจร ตอนอุดรธานี – น้ำสวย – สะพานมิตรภาพหนองคาย เป็น 6 ช่องจราจร ระยะทาง 22.7 กิโลเมตร รองรับปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยได้ 28,188 คันต่อวัน
• ขยายช่องจราจร ตอนหนองบัวลำภู – ศรีบุญเรือง – ชุมแพ – ชัยภูมิ เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 160 กิโลเมตร
• ขยายช่องจราจร ตอนหนองบัวลำภู – โนนสัง – อุบลรัตน์ – ขอนแก่น เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 37.92 กิโลเมตร รองรับปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยได้ 4,662 คันต่อวัน
• ปรับปรุงทางหลวง ตอนหนองหิ้ง – เหล่าหลวง ต.เซกา ต.หนองหิ้ง อ.เซกา จ.บึงกาฬ เพิ่มมาตรฐานทางเป็นชั้น 1 รองรับปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยได้ 5,580 คันต่อวัน
• ปรับปรุงขยายทาง ถนนทางหลวงชนบท บ.โนนจำปาทอง อ.เมือง อ.เซกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ที่มีขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 4.15 กิโลเมตร ให้ดียิ่งขึ้น
• จัดระเบียบการจราจรเพื่อแก้ไขปัญหาการติดขัดช่วงทางเข้าท่าอากาศยานอุดรธานี และถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานี รองรับปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยได้ 22,228 คันต่อวัน
2. โครงข่ายคมนาคมทางอากาศ
• ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่ของท่าอากาศยาน จ.เลย ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นถึง 1,700,000 คนต่อปี และสามารถจอดรถยนต์ได้กว่า 300 คัน
• ขยายลานจอดเครื่องบิน จากเดิมที่รองรับเครื่องบิน Boeing 737 ได้เพียง 2 ลำ เป็น 4 ลำในเวลาเดียวกัน
• ศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้างสนามบินบึงกาฬ
3. รถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย
• ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ช่วงกลางดง – ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ได้เริ่มการก่อสร้างแล้ว เหลืออีกประมาณร้อยละ 40 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2562
• ระยะต่อไป อยู่ระหว่างจัดทำรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา
4. รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร
• เป็นการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (ระบบรถไฟทางคู่) ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง รองรับการเชื่อมต่อเส้นทางหนองคาย – นครราชสีมา – สระบุรี – ฉะเชิงเทรา – แหลมฉบัง – มาบตาพุด
• สนับสนุนการขนส่งสินค้าจากจีน และลาว มายังท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด รวมทั้งเชื่อมโยงแนวตะวันออก-ตะวันตก (สระบุรี – นครราชสีมา – ขอนแก่น – อุดรธานี – หนองคาย – เวียงจันทน์)
• ขณะนี้อยู่ระหว่างรอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะสร้างโอกาสในการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ให้เป็นฐานการผลิตใหม่ ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในทุกด้านก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับประเทศและภูมิภาคต่อไป