จากกรณีที่มีการเสนอข่าวผ่านสื่อบางสำนักข่าวที่กล่าวโจมตีกระบวนการสรรหาผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) การบริหารงานที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ กทท. การสอบบรรจุพนักงาน กทท. ที่ไม่โปร่งใส ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของ กทท. กรณีที่กล่าวมานั้น กทท. ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. การดำเนินการสรรหาผู้อำนวยการ กทท.
การดำเนินการสรรหาผู้อำนวยการ กทท. ในครั้งนี้เป็นไปตามกรอบขั้นตอนและหลักเกณฑ์เดียวกับการสรรหาที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ได้ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และประเมินผู้เข้ารับ การสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ไว้เป็นมาตรฐานสำหรับใช้เป็นเครื่องมือพิจารณาให้คะแนนผู้เข้ารับ การสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ แต่มีกรรมการท่านหนึ่งติดภารกิจสำคัญเร่งด่วน ไม่สามารถอยู่รับฟัง การแสดงวิสัยทัศน์ได้ครบทุกคน จึงไม่มีสิทธิในการให้สรุปคะแนนประเมินผลการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์
สำหรับการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ กทท. นั้น เป็นไปตามขั้นตอนและแนวทางการสรรหาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ เมื่อกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาผู้ที่มี ความเหมาะสมแล้วให้เสนอต่อผู้มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจนั้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดกล่าวคือ เมื่อสรรหาผู้บริหารสูงสุดแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาฯ เสนอชื่อต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้พิจารณาเสนอชื่อให้อนุกรรมการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังนั้นคณะกรรมการสรรหาฯ จึงได้เสนอผลการดำเนินการให้คณะกรรมการ กทท. พิจารณาตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ปัจจุบันกระบวนการในการสรรหาฯ ผู้อำนวยการ กทท. ของคณะกรรมการสรรหาฯ ตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ดำเนินการเสร็จสิ้นและเสนอผลการสรรหาผู้อำนวยการ กทท. ต่อคณะกรรมการ กทท. แล้ว อนึ่ง ในส่วนของกระบวนการพิจารณาแต่งตั้งอยู่ในขั้นตอนการเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งตามที่พระราชบัญญัติการท่าเรือฯ พ.ศ. 2494 กำหนดไว้
2. การบริหารสินทรัพย์
ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร เข้ามารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ ได้พัฒนาการบริหารจัดการสินทรัพย์โดยปรับปรุงการดำเนินการคำนวณค่าเช่าและขึ้นค่าเช่า โดยนำฐานราคาที่กรมธนารักษ์ประกาศมาเป็นบรรทัดฐานในการปรับค่าเช่า ทั้งได้ดำเนินการประกาศค่าเช่าใหม่ไปเมื่อเดือนมกราคม 2560 พร้อมทั้งติดตามทวงหนี้ที่ค้างชำระจนทำให้มีรายได้ด้านการบริหารสินทรัพย์สูงกว่าประมาณการทุกปี ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน สามารถทำรายได้สูงถึง 1,695 ล้านบาท
สำหรับประเด็นเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่และบริหารสินทรัพย์ของ กทท. นั้น ในการปรับเปลี่ยนอัตราค่าเช่าที่ดินและสินทรัพย์ต่างๆ ของ กทท. อยู่ในอำนาจการอนุมัติของคณะกรรมการ กทท. ซึ่งได้มีการปรับขึ้นเป็นระยะ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ประชาชนผู้เช่าเดือดร้อนตามนโยบายรัฐบาล
ต่อมาคณะกรรมการ กทท. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปสินทรัพย์ขึ้นเพื่อพิจารณา แผนแม่บทการใช้พื้นที่ทั้งหมดของท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ส่วนการพิจารณาให้เช่าพื้นที่ของ กทท. นั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์ของ กทท. ตามระเบียบของ กทท. ว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินของ กทท. พ.ศ. 2548 ซึ่งมิได้ขึ้นอยู่กับผู้บริหารท่านหนึ่งท่านใด แต่เพียงผู้เดียว
3. การรับบุคคลเข้าเป็นพนักงาน
ในการรับบุคคลทั่วไปเข้าเป็นพนักงาน ต้องปฏิบัติตามระเบียบ กทท. ว่าด้วยการรับสมัครเข้าปฏิบัติงานใน กทท. พ.ศ. 2554 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานที่มีตำแหน่งว่างเป็นผู้เสนอขอบรรจุตามความจำเป็นของงาน การพิจารณาผู้สมัครได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ มีการเปรียบเทียบคุณวุฒิผู้สมัครสอบ กระบวนการในการสอบคัดเลือกบุคคลทั่วไป การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่การสอบคัดเลือกอย่างรัดกุม มิได้เป็นการรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจให้ผู้ใดผู้หนึ่งสามารถใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งรับบุคคลได้ ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้ใช้อำนาจในการรับพนักงาน กทท. แลกกับการ “เรียกรับเงิน” ของบุคคลตาม ข้อกล่าวหาแต่ประการใด และในการบริหารจัดการด้านการจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงาน เป็นไปตามมาตรฐานทางการเงินและการบัญชีที่ยอมรับโดยทั่วไป และเป็นการจ่ายตรงเข้าบัญชีพนักงาน ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะมี การ “หักหัวคิว” จากเงินเดือนได้แต่ประการใด
ในส่วนของปัญหาเรื่องค่าล่วงเวลา (โอที) เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหน่วยงานที่ต้องอยู่ปฏิบัติงานนอกเวลา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภาคปฏิบัติการ (Operation) โดยการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นการดำเนินการของผู้บังคับบัญชาหน่วยงานนั้น ๆ โดยตรง ไม่ได้ส่งเรื่องผ่านฝ่ายบุคคล และในส่วนการฟ้องร้องค่าล่วงเวลาของพนักงานนั้น เป็นเรื่องของพนักงานไปรวมตัวกันจ้างทนายฟ้องเอง โดยผู้บริหารมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
4. Conflict of Interest
ตามที่มีข่าวโจมตีว่าการเป็นสามีภรรยาอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นประเด็นดังกล่าวได้เคยมีการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ของ กทท. ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 ในกรณีที่พี่น้องและคู่สมรสเป็นผู้บริหารระดับสูงใน กทท. อาทิ เช่น
1. ผู้อำนวยการ กทท. ในขณะนั้นมีพี่สาว เป็นรองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารทรัพยากรบุคคลและการเงิน
2. รองผู้อำนวยการ กทท. สายพัฒนาองค์กรและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีภรรยาเป็นเลขานุการผู้อำนวยการ กทท.
3. รองผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ มีภรรยาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล
4. นักบริหาร 16 ประจำผู้อำนวยการ กทท. มีสามีเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารทรัพยากรบุคคลและการเงิน
ว่าจะมีความเหมาะสมหรือไม่ ในกรณีดังกล่าว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลในขณะนั้น (คุณธนาธิป ปาณวร) ได้ชี้แจงว่า มีข้อบังคับและกฎหมายว่าด้วยการดำรงตำแหน่งเครือญาติและคู่สมรสว่า
1. ตาม พ.ร.บ. กทท. 2594 กำหนดว่า ผู้อำนวยการ กทท. ให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการ กทท. กำหนด มีอำนาจบังคับบัญชาทุกตำแหน่ง ให้มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนพนักงานตำแหน่งที่ต่ำกว่า ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญและผู้อำนวยการฝ่ายในระดับ 14 ลงมา
2. ข้อบังคับว่าด้วยการแต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนและลดขั้นเงินเดือน และกำหนดอัตราเงินเดือนพนักงาน กทท. พ.ศ. 2498 ข้อ 5 กำหนดว่า ไม่มีข้อห้ามการแต่งตั้งบุคคลที่เป็นเครือญาติหรือคู่สมรสเป็นพนักงานและเป็นไปตามหลักการในการบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการตามกฎหมาย และพระราชบัญญัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสากิจ พ.ศ. 2518 ม.8 และ 9
ตามหลักการข้อ 1 และ 2 สรุปได้ว่า ไม่มีข้อบัญญัติหรือหลักการห้ามไม่ให้คนในเครือญาติหรือคู่สมรสเป็นพนักงานในองค์กรของรัฐแห่งเดียวกันและสอดคล้องกับหลักสากลและหลักธรรมชาติ ที่องค์กรของรัฐไม่อาจกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพราะความเป็นสายเลือดถึงการเป็นคู่สมรสได้ ที่สำคัญหลักการดังกล่าว ยังได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ม.30 อีกด้วย
3. สำหรับการดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ กทท. หรือตำแหน่งเทียบเท่ารองผู้อำนวยการ กทท. และผู้อำนวยการ กทท. นั้น ด้วยการแต่งตั้งผู้อำนวยการ กทท. เป็นไปตามกระบวนการสรรหาที่ กทท. กำหนดและถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งไม่มีข้อห้ามกำหนดว่าห้ามไม่ให้เครือญาติหรือคู่สมรสเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรนั้นๆ พร้อมกัน