โครงการ ไอซีดีลาดกระบัง มูลค่า 40,000 ล้านบาท ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท) เปิดสรรหาเอกชนร่วมลงทุนตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 ที่ผ่านมา มีเอกชนเพียงหนึ่งรายที่ยื่นข้อเสนอจากจำนวนผู้ซื้อเอกสารประกวดราคาทั้งหมด 10 ราย โดยบริษัทที่ยื่นข้อเสนอ ได้แก่กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบังเทอร์มินัล จำกัด บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โอเชี่ยนเน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด

โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ แอล จี ได้คว้าประมูลการบริหารไอซีดีลาดกระบังระยะเวลา 20 ปี โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จะดำเนินการเจรจากับผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานโดยคาดว่าจะให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน ก่อนทำการเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบลงนามสัญญา

เอ แอล จี สัมปทาน ไอซีดีลาดกระบัง 2019 2
กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ แอล จี ประกอบด้วย บริษัท Eastern Sea Laem Chabang Terminal จำกัด (ESCO) บริษัท Evergreen Container Terminal (Thailand) จำกัด บริษัท Ocean Network Express (Thailand) จำกัด และบริษัท Thai International Logistics จำกัด

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า คณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกพิจารณาข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุน (ซองที่ 3) แล้ว และมีมติให้กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ชนะการแข่งขันเสนอราคา โดยได้รับสัมปทานระยะเวลา 20 ปี ในการบริหารพื้นที่ ไอซีดีลาดกระบัง พื้นที่ขนาด 647 ไร่ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคในโครงการ

รฟท ระบุว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ จะเป็นการเจรจากับผู้ชนะการประมูล เพื่อทำการเจรจาต่อเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ จากนั้นจะร่างสัญญาผลการเจรจาเสนอกระทรวงคมนาคมและสำนักงานอัยการสูงสุดไม่เกิน 45 วัน จึงจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบลงนามสัญญา

ทั้งนี้ ขอบเขตสัมปทานที่เอกชนได้รับในสัญญานี้ จะแตกต่างจากสัญญาเดิม เพราะ รฟท มอบสิทธิให้เอกชนบริหารจัดการพื้นที่ภายในไอซีดี ลาดกระบัง รวมกับการบริการรับส่งสินค้าในรูปแบบตู้สินค้า ปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ บำรุงรักษาพื้นที่ภายในโครงการ และลงทุนจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ แรงงาน และระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ซึ่งต่างจากเดิมที่ รฟท บริหารพื้นที่ส่วนกลางเองโดยให้ผู้ประกอบการสัมปทานสถานีย่อยแต่ละสถานีภายในไอซีดี

รฟท คาดการณ์ว่า ด้วยขอบเขตสัมปทานแบบใหม่นี้ จะช่วยลดปัญหาการจราจรของพื้นที่ไอซีดีลาดกระบัง

บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบังเทอร์มินัล จำกัด คือผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ B3 ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยก่อนหน้านี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการหนึ่งในหกสถานีคัดแยกและบรรตุตู้สินค้าที่ไอซีดีลาดกระบัง อีสเทิร์นซี แหลมฉบังเทอร์มินัล หรือ ESCO เป็นบริษัทที่มืผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือบริษัท PSA จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเข้ามาลงทุนในบริษัท ESCO ร่วมกับบริษัท Marubeni และบริษัท Kamigumi ตั้งแต่ปี 2003 นอกจากนี้ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ESCO ยังเป็นผู้ถือหุ้นในท่าเทียบเรือ A0 และ B1 ด้วย

บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล ก็เช่นเดียวกัน เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการท่าเทียบเรือที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยประกอบการท่าเทียบเรือ B2 และก่อนหน้านี้ ก็เป็นผู้ประกอบการหนึ่งในหกสถานีคัดแยกและบรรตุตู้สินค้าที่ไอซีดีลาดกระบังด้วยเช่นกัน เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล เป็นบริษัทหนึ่งในเครือ เอเวอร์กรีน กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสายการเดินเรือ Evergreen สายการเดินเรือใหญ่อันดับที่เจ็ดของโลก มีเรือขนส่งสินค้ากว่า 200 ลำ รวมพื้นที่ระวางตู้สินค้ากว่า 1.2 ล้านทีอียู นอกจากนี้ ปัจจุบัน Evergreen ยังมีเรือที่อยู่ระหว่างต่อขึ้นและรอส่งมอบอีกกว่า 70 ลำด้วยกัน ซึ่งรวมพื้นที่ระวางของเรือที่อยู่ระหว่างรอส่งมอบถึงกว่า 480,000 ทีอียู

ส่วนบริษัทโอเชี่ยนเน็ตเวิร์คเอ็กซ์เพรส หรือ Ocean Network Express (ONE) เป็นผู้ประกอบการสายการเดินเรือที่เกิดจากการรวมตัวกันของสายการเดินเรือชั้นนำจากญี่ปุ่นสามรายได้แก่ สายการเดินเรือ NYK, “K” Line และ MOL โดยปัจจุบันเป็นสายการเดินเรือใหญ่อันดับ 6 ของโลก

ปัจจุบัน สายการเดินเรือ Ocean Network Express มีเรือขนส่งสินค้ารวมกว่า 200 ลำ รวมพื้นที่ระวางตู้สินค้าทั้งสิ้น กว่า 1.5 ล้านทีอียู

หลังจากที่ NYK, “K” Line และ MOL รวมตัวกันเป็นสายการเดินเรือ Ocean Network Express แล้ว ก็ได้เริ่มทำการแบรนดิ้งใหม่ โดยนำสีชมพูสด มาใช้เป็นสีเอกลักษณ์ขององค์กร และทาสีตู้สินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์ให้เป็นสีชมพูสดดังกล่าว สร้างความโดดเด่น และสร้างความสนใจให้กับผู้พบเห็น อีกทั้งเป็นการสร้างสีสันให้กับอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างดี

หลังจากสายการเดินเรือ Ocean Network Express เปิดดำเนินการในประเทศไทยได้เพียงเก้าเดือน ก็สามารถทำการขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศไทยกับตลาดต่างๆ ทั่วโลก รวมกันถึงหนึ่งล้านทีอียู ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่รวดเร็วมาก เทียบกับสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศไทยทั้งหมดแปดล้านทีอียูตลอดทั้งปี 2017 ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ เมื่อไม่นานมานี้ สายการเดินเรือ Ocean Network Express ยังได้นำเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเข้าเทียบที่ท่าเรือแหลมฉบัง เข้ามารับส่งตู้สินค้าด้วยในประเทศไทยด้วย โดยเป็นเรือขนาดใหญ่ที่ 14,000 ทีอียู และเข้าเทียบที่ท่าเทียบเรือ D ของบริษัท Hutchison Ports Thailand

Mr. Kiyoshi Tokonami กรรมการผู้จัดการของบริษัท Ocean Network Express (Thailand) กล่าวว่า “การนำเรือขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยนำเข้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบัง แสดงให้เห็นถึงการได้รับการยอมรับ และการร่วมมือกับลูกค้าเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทยในการเริ่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้โครงการ Eastern Economic Corridor หรือ EEC


คลิกเพื่อแอดไลน์ของ AEC Logistics เพื่อรับเฉพาะข่าวสารสำคัญและโปรโมชั่น